Saim Temple Thailand on Tour Travel II

วัดพระบรมธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
พระธาตุจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุ ส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มีขนาดโตประมาณ เมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี
โลหะกูเฎ ปะติฎฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ
กิตติมันตัง มะโนหะ รัง อะหัง วันทามิ
อสัพพะทา อัง คะวะเย ปุเรรัมเมิโกวิลา
รัคคะปัพ พะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ
ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา

วัดพระธาตุลำปางหลาง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ประวัติพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐาสัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ
คุตตา อุตตะราภิทัยยา นะมามิหันตัง
วะระชินะธาตุง ฐะเปติ มะหา ฐาเน
เจติยัง ปูชิตา นะเะเทเวหิ
อะหัง วันทามิ ธาตุโย

วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่
พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสนสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
โกเสยยะ ธะชัคคะ
ปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม
พุทธะ เกสาธาตุ ปะติฎฐิตา
อะหัง วันทามิ สัพพะทา
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิสัพพะโส
วัดพระธาตุแช่แห้ง กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก
ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง
จิรัง วันทามิหันตัง ชินะธาตุโย
โส ตะถาคะตัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน แต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้เป็นตลาด เรียกชื่อว่า วัดลีเชียง (ลี หมายถึง ตลาด) จนถึงปี พ.ศ. 1888 พระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม พระอุโบสถ หอไตรที่มีปูนปั้นรูปเทวดาประดับ และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยโสปิ
เตโข ยัตถะ จิตโตโส สักกาโร
อุปาโท สะกาละพุทธะสาสะธัง โชตะยันโตวะ
ทีโป สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนยะ
พุทโธติ นะมามิ สิหิงคะพิมพัง
สุวัณณาภิรัมมัง ลังกาชาตัง
วัดหนองบัว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
อยู่ชานเมืองอุบลราชธานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตรตามถนนเลี่ยงเมือง จะมีทางแยกจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ 700 เมตร ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ร่มรื่น
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง
อะนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะ
เสฏฐัง จะตุตถะกัง ระตะนะฆะรัง
ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง
ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจ
จะลินทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต
วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก
เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้าทันใจ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และมีตำนานว่าสร้างเสร็จในหนึ่งวัน พระเจ้าทันใจนี้ล่ำรือกันว่าศักสิทธิ์นัก จริงๆ แล้วพระเจ้าทันใจมีอยู่อีกหลายวัด แต่ที่เป็นที่นับถือมากที่สุดคือที่วัดพระบรมธาตุ พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (ทองอยู่) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุได้จดจำเอารูปทรงของเจดีย์ชเวดากองมาสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ซึ่งมีรูปทรงสมัยสุโขทัยไว้ และยังสร้างพระบรมธาตุองค์เล็กๆ 16 องค์ และเจดีย์ใส่พระพุทธรูปอีก 16 องค์ และโขงจุดไฟเทียนอีก 6 โขง ไว้รายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ด้วย ด้านซ้ายมือของเจดีย์จะเป็นทางเข้าวิหารเก่าครึ่งตึกครึ่งไม้และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยภายในวิหารยังมีธรรมาสน์เก่าเป็นไม้แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม ทางซ้ายของเจดีย์เป็นพระอุโบสถครึ่งตึกครึ่งไม้ มีประตูไม้แกะสลักรูปป่าหิมพานต์ หน้าบันและจั่วเป็นไม้แกะสลักไว้อย่างวิจิตร หน้าบันที่สวยมากจะอยู่ทางด้านหลังของพระอุโบสถ บานหน้าต่างเป็นภาพพระพุทธประวัติใช้ไม้แกะสลักปิดทองสวยงามมาก วัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่กล่าวได้ว่า สวยงามที่สุดในจังหวัดตาก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีชาวบ้านเป็นจำนวนมาก นำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา นอกจากนั้นยังมีงานประเพณีที่สำคัญอีกงานหนึ่ง คือ ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
สัมมาสัมพุทธะ นะลาตะ
อัฏฐิ จะตุเกสาธาตุยา
คันธะวะ รัง ฐิตัง ปะระมา
ธาตุ เจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะธา












Designed by Posicionamiento Web | Bloggerized by GosuBlogger | Blue Business Blogger